ถ้าอยากเรียนรู้ให้อ่าน อยากเข้าใจให้เขียน อยากเป็นเทพเรื่องนั้นให้สอน

ถ้าอยากเรียนรู้ให้อ่าน อยากเข้าใจให้เขียน อยากเป็นเทพเรื่องนั้นให้สอน

วันนี้ผมเริ่มนั่งเขียนอยู่ในร้าน Peet’s Coffee ริมทะเลสาบซีหู หางโจว ประเทศจีน อากาศร้อนกับแดดแรง ๆ ช่วงบ่ายทำให้ในร้านคนแน่นขนัด คนพูดคุยเสียงดังจนผมต้องใส่หูฟัง ตั้งไว้ว่าจะใช้เวลาเขียนสัก 1 ชม.

………..

หลังจากที่เขียนอย่างไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง ไม่สม่ำเสมอมานาน คิดว่าน่าจะได้ฤกษ์ตั้งใจเขียนให้ดีจริง ๆ ซะแล้ว

อดีตผมเขียนหนังสือมาแล้ว 4 เล่ม: 2 เล่มเล็กชื่อ “Read Everyday Repeat Every Month” และ “Read (More) Everyday Repeat Every Month” ไม่รู้ใครเกิดทันบ้าง

ส่วนอีก 2 เล่มขนาดหนาหน่อย ชื่อ Presentation Canvas เน้นให้คนเปลี่ยนการนำเสนอเป็นการเล่าเรื่อง และอีกเล่มคือ หนังสือบริษัทครบรอบ 20ปี ชื่อ “บริษัทนี้ทำงานวันสุข”

หลังจากนั้นก็เขียนเรื่อยเปื่อย ในบทความชื่อ “ความคิดสร้างฉัน” บ้าง ฯลฯ

ทีนี้.. ด้วยแรงผลักดันจากหนังสือเล่มหนึ่ง (ที่เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง) และพอเจอโพสแอดทอย Kasidis Satangmongkol ซ้ำเข้าไปอีก รอบนี้จึงตั้งใจว่าจะเขียนจากเรื่องที่ได้อ่านมา รวมกับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยจะเขียนให้เป็นธรรมชาติ เป็นตัวผมที่สุด เขียนให้ดีที่สุด ตั้งใจที่สุด แต่ปรุงแต่งน้อยที่สุด โดยเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ที่เข้าถึงผู้คนได้เรียบง่ายที่สุด และหวังที่เป้าหมายของตัวเองที่ตั้งไว้คือ 100 วัน (เห้ยทำไมตัวเลขมันคุ้นๆ)

ดังนั้นเริ่มเลย..

ทำไมเราต้องเขียนด้วย?

พี่วิชัย Salmon คอมเม้นต์ในสเตตัสเฟสบุคของผมว่า “การเขียนจะช่วยสร้าง Muscle Memory ด้วยนะ” การเขียนเรื่อย ๆ จะทำให้ระบบประสาทช่วยสร้างการเรียนรู้รูปแบบการเคลื่อนไหว โดยที่เมื่อทำไปเรื่อย ๆ จนกล้ามเนื้อคุ้นชิน ก็จะสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องพยายาม

คุณโจ้ MD ของผมที่ออฟฟิสบอกว่า “ก็เหมือนพี่เก่งขี่จักรยานเป็นน่ะ แรก ๆ ก็ต้องคิดตลอดว่าจะต้องบาลานซ์ตัวเองยังไง แต่พอขี่ได้จนชำนาญ ร่างกายจำได้แล้ว เราก็กระโดดขึ้นจักรยานแล้วก็ปั่นมันออกไปได้เลย”

ผมเองก็คิดว่าการเขียนมีประโยชน์มากกว่านั้น และคิดว่าทุกคนควรเขียน จะเขียนลงเฟสบุค หรือจะเขียนเป็นบันทึกประจำวันทุกวันก็ได้ ด้วยเหตุผลที่ดีต่าง ๆ ที่ผมสรุปมาได้ 5 ข้อ ดังนี้

.

1. การเขียนจะทำให้เราจำได้

พวกเราคงเคยได้ยินคนเคยพูดว่า “ว่าถ้าคุณอยากเรียนรู้ให้อ่าน แต่ถ้าคุณอยากเข้าใจให้เขียน และถ้าคุณอยากเป็นเทพในเรื่องนั้นให้สอน”

เรื่องนี้จริงยิ่งกว่าจริง เพราะเมื่อคุณอ่านแล้วคุณจะได้เรียนรู้สิ่งนั้น แต่บางครั้งพอให้ทบทวนดูอีกทีเรากลับเล่าไม่ได้ สรุปไม่ครบ ดังนั้นการเขียนเรื่องที่เราได้เรียนรู้มา จะทำให้เราได้ทบทวน เรียบเรียง จัดลำดับสิ่งที่อยู่ในหัว จัดระบบในสมอง เพราะคุณไม่สามารถเขียนออกมาได้เลยถ้าคุณไม่เข้าใจมันอย่างถ่องแท้

ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดามาก หากระหว่างทางของการเขียน คุณต้องเสิร์ชข้อมูลเพิ่มเติม เปิดหนังสือที่เคยอ่านเล่มนั้นอีกรอบ และทั้งหมดคือสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นจากการเขียน (ส่วนเรื่องการสอนค่อยว่ากันอีกที เดี๋ยวจะเยอะ)

.

2. การเขียนทำให้ได้ผลลัพธ์ถึง 3 ต่อ

หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมชอบมาก ชื่อ The Diary of a CEO บอกว่า การเขียนคือการทำประโยชน์ แบ่งปันให้สาธารณะ ที่สุดท้ายจะส่งผลกลับมาหาตัวผู้เขียนเอง นอกจากจะทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ตามข้อ 1 แล้ว ยังทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงแง่มุม ความคิด ความชำนาญ ของผู้เขียน

เป็นการยิงนกทีเดียวไม่ใช่ได้แค่สองตัว แต่ได้ถึงสามตัว คือได้ทำให้ตัวเองเข้าใจมากยิ่งขึ้น, ได้แบ่งปันให้ผู้อื่น และ ได้ทำให้ผู้อื่นรู้จักเรามากขึ้นว่าเราคิดอย่างไร มีความเห็น ความรู้อย่างไร

.

3. การเขียนจะฝึก “การเล่าเรื่อง”

การเล่าเรื่องถือว่าเป็นหนึ่งในสกิลสำคัญของผู้บริหารและคนทำงานในยุคนี้ และการเล่าเรื่องมีอิทธิพลทางความคิดของมนุษย์เป็นอย่างมาก

หนังสือ Sapiens โดย Yuval Noah Harari ยังเขียนไว้เลยว่า เพราะการเล่าเรื่อง เพราะภาษานี่แหละ เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้มนุษย์ในยุคหินสามารถอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่า Homo Sapiens อย่างเราจะตัวเล็กกว่ากลุ่มอื่น และถือกำเนิดขึ้นมาเพียงแค่ 100,000 ปีนี้มานี้เองก็ตาม

เราคงเคยเห็นกรณีศึกษานับไม่ถ้วนเกี่ยวกับการเล่าเรื่องที่ถูกนำมาต่อยอดธุรกิจ สร้าง branding สร้างความเชื่อ และให้ความเข้าใจกับผู้คน ดังนั้นการฝึกเขียนคือการฝึกเล่าเรื่อง

นอกจากจะเป็นการเรียบเรียงเรื่องที่จะเล่าแล้ว ยังเป็นการออกแบบเส้นทางความคิดของผู้อ่านได้ด้วย เช่น เมื่อผู้อ่าน อ่านถึงย่อหน้านี้ เราอยากให้เขาคิดแบบนี้นะ แล้วมาหักมุมเขาทีหลังช่วงย่อหน้านี้นะ เป็นต้น

.

4. คุณจะได้พัฒนาการสื่อสารด้วยการ Empathy ผู้อ่าน

“อยากให้คนอื่นเข้าใจ ก็ต้องเริ่มจากการเข้าใจผู้อื่น”

จะต้องเขียนอย่างไร ศัพท์เทคนิคมากน้อยขนาดไหน คนอ่านจะคิดอย่างไร ถ้าเราเป็นกูรูด้านนี้แต่ใช้ศัพท์เทคนิคไม่เป็น หรือเราเก่งมากเกินไปใช้แต่ศัพท์เทคนิคจนคนไม่เข้าใจ

คนจะคิดอย่างไร เข้าใจอย่างไร การเขียนจะเป็นการถอดตัวเองออกไปนั่งอยู่ในใจ อยู่ในความคิดของผู้อ่าน

บางครั้งผู้อ่านอยากเห็นนักเขียน ที่เขียนได้หล่อ เท่ แต่บางทีผู้อ่านก็อาจจะรู้สึกถึงความปลอมในภาษาเหล่านั้น ถ้าเรา empathy เขาได้ เราจะพัฒนาการสื่อสารของเราไปได้อีกมาก

.

5. ฝึกวินัยส่วนตัว

ยอมรับว่าผมเป็นคนมีวินัยน้อยมาก เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาเขียนไว้ว่า…

“ถ้าคุณมองว่าการวาดรูปสวย การเล่นดนตรีเก่ง ร้องเพลงไพเราะคือพรสวรรค์ การมีวินัย ก็ถือเป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน”

หลายคนมีวินัยเหมือนพรสวรรค์ สามารถทำบางเรื่องซ้ำ ๆ เป็นประจำได้ทุกวัน ออกกำลังกายได้ทุกวัน ทำพอดแคสต์ได้ทุกวัน อัดคลิปได้ทุกวันโดยไม่ต้องพยายามมาก

ในขณะที่หลายคนแม้จะรู้ว่าการทำสิ่งเหล่านี้จะดีต่อตัวเองในระยะยาว รู้ว่า “วินัยคือหนทางสู่อิสรภาพ”​ อย่างที่คุณเอ๋ นิ้วกลม และคุณแทป รวิศ ชอบพูดอยู่บ่อย ๆ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ยาก

คำพูดจากหนังสือเล่มนั้นจึงย้อนกลับมาทำให้ผมเริ่มเชื่อว่า “วินัยคือพรสวรรค์อย่างหนึ่ง” ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องจริง แต่ก็ใช่ว่าคนไม่มีพรสวรรค์จะไม่สามารถทำได้

เราสามารถทำได้ทุกอย่างถ้ามีความพยายามมากพอ เหมือนคนที่เกิดมาวาดรูปไม่เก่ง ก็ใช่ว่าจะวาดรูปไม่เก่งเสมอไป หากฝึกฝนก็จะสามารถทำได้

พรสวรรค์คือข้อได้เปรียบสำหรับบางคน แต่สำหรับคนที่ไม่มีพรสวรรค์ สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือการ “ฝึกฝน”

ดังนั้นการเขียนรอบนี้คือการกลับมาฝึกวินัยของผมด้วยเหมือนกัน..

ฝากมาให้กำลังใจกันด้วยนะครับ

……….

เงยหน้าขึ้นมาอีกครั้งแดดก็ลงแล้ว เขียนรอบนี้ใช้เวลาไปประมาณครึ่งชั่วโมง ผู้คนในร้านกาแฟบางตาไปมาก แต่กาแฟในแก้วของผมลดไปแค่ครึ่งแก้วเพราะมัวแต่เขียนอย่างเมามันส์

พรั่งพรูมาก

หวังว่าเนื้อหาของวันนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ

#ความคิดสร้างฉัน Day1

storytellingmonetizationcanvas
Up Next:

เล่าเรื่องอย่างไรให้ขายได้! Storytelling for Monetization กับ Workshop ที่งาน iCreator2023

เล่าเรื่องอย่างไรให้ขายได้! Storytelling for Monetization กับ Workshop ที่งาน iCreator2023