ผู้นำในยุคก่อนกับผู้นำในยุคนี้ต่างกันตรงไหน?
มีทั้งต่างกันและเหมือนกัน ผู้นำในยุคก่อนแตกต่างจากยุคใหม่ตรงวิธีการทำงาน แต่ก่อนเราสามารถขับเคลื่อนคนให้ทำงานได้ด้วยคำสั่ง และสามารถทำให้คนอยู่ในระเบียบได้ด้วยกฎ ข้อบังคับ แต่การทำงานของผู้นำในยุคนี้คือการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างพลังที่จะพาให้คนขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้พร้อมกัน ในทิศทางที่ผู้นำได้เลือกไว้ โดยไม่ต้องบังคับใคร เพราะการบังคับถือเป็นเรื่องยากสำหรับผู้คนในยุคนี้ หรือแม้แต่ออกกฎระเบียบ ข้อบังคับที่เข้มงวดเกินไป ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้สำหรับผู้คนในยุคที่ความสามารถของพวกเขานั้นเป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่จะพาเขาไปที่ไหนก็ได้ ทำงานอะไรก็ได้ กับใครก็ได้ และทำงานมากกว่าที่เดียวก็ได้
แต่สิ่งที่ผู้นำทั้งเก่าและใหม่มีเหมือนกันคือ วิสัยทัศน์ และมุมมอง ผู้นำที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะในยุคไหน สมัยใด ต่างต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มองเห็นอนาคต และพร้อมจะสร้างมัน เพราะผู้ตาม มิได้ตามคุณเพราะตำแหน่ง แต่พวกเขาตามเพราะความคิดของคุณ
เพราะ “Leadership is a mindset in action” การเป็นผู้นำคือการทำงานด้วยความคิด
แต่ความคิดที่ “ไกล” อย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่สำหรับผู้นำในยุคนี้?
Simon Sinek นักเขียนได้กล่าวไว้ว่า Leadership requires two things: a vision of the world that does not yet exist and the ability to communicate it.
เมื่อการเป็นผู้นำต้องมีสองสิ่ง หนึ่งคือวิสัยทัศน์ที่มองเห็นถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และสองคือความสามารถในการบอกให้ผู้อื่นได้เข้าใจ..
แต่จะมองไกลอย่างไร และจะสื่อสารอย่างไร แน่นอนว่าด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความคิดของผู้ตามที่ไม่เหมือนเดิมกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การมีแค่ความคิดที่กว้างไกลอย่างเดียว เห็นทีจะไม่เพียงพอสำหรับผู้นำในยุคใหม่นี้อีกแล้ว
ดังนั้นผู้นำในยุคนี้ไม่เพียงแต่จะต้องมองไกลได้ แต่ยังต้องสามารถมองใกล้ และยังสามารถถอยออกมามองเห็นภาพใหญ่ ขณะที่ยังต้องเพ่งมองภาพเล็กได้อีกด้วย
แต่อะไรคือการมองไกล มองใกล้ มองใหญ่ มองเล็ก ที่หมายถึง?
มองไกล
คือการมองเห็นสิ่งที่อยู่ห่างตัวออกไป อยู่ห่างจากบริษัท และหลายครั้งอยู่ห่างจากอุตสาหกรรมของเราออกไปเสียอีก การได้มองไกลคือการได้มองเห็นถึงสิ่งที่อยู่ไกลตัว คิดถึงสิ่งนั้น มองเห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ หาหนทางแก้ไข และทำมันให้ได้จนสำเร็จ
เพราะในยุคดิจิตัลที่ทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกันทั้งหมด คำว่า “ผู้นำ” ในที่นี้ จึงมิได้หมายถึงแค่ผู้นำคนในบริษัท แต่ยังหมายถึงผู้นำคนที่อยู่ห่างออกไปไกลอีกหลายร้อย หลายพันกิโล ผู้คนที่อาจจะเป็นลูกค้าในปัจจุบัน หรืออาจจะเป็นลูกค้าในอนาคต ดังนั้นการมองไกลจึงอาจจะเป็นการมองเห็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับผู้คนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงการใช้วัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ครั้งเดียว หรือ Single use เรื่องโลกร้อน หรือแม้แต่ปัญหาทางสังคม ความคิดแบบ “คิดไกล” จึงไม่ใช่การคิดถึงเฉพาะบริษัทตัวเอง กำไรของตัวเองเท่านั้น
แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่ คนที่เราเรียกว่า “อนาคต” พวกเขาแคร์ในการมองไกลของผู้ใหญ่ในยุคนี้มาก เพราะผู้ใหญ่ในยุคนี้จะนำสิ่งที่พวกเขาใช้กันมานานกว่า 40-50 ปี ส่งมอบให้เด็กที่มีอายุหลังจากนี้ไปอีกนานได้ดูแล และความสนใจเช่นนี้จะทำให้ผู้นำที่ “มองไกล” จะเป็นผู้นำที่ได้รับความสนใจ และเป็นผู้นำทางความคิดของคนในยุคใหม่อย่างแน่นอน
มองใกล้
เมื่อการมองไกล คือการมองออกไปไกลจากตัวองค์กร ตัวอุตสาหกรรม แต่การมองใกล้คือการมองสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว สิ่งที่มีความสำคัญกับผู้ตามหรือลูกค้าในระยะประชิด
ในสัมมนาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นงาน SXSW2019 และงาน Web Summit ที่โปรตุเกส งานใหญ่ที่เพิ่งจบไปเมื่อต้นเดือนพฤจิกายนที่ผ่านมา ล้วนพูดถึงเรื่องใกล้ ๆ เช่น เรื่องสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของลูกค้า (Digital Privacy) เรื่องจรรยาบรรณของบริษัท (Ethics) และเรื่องที่หลายคนมองว่ากำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคือ Digital Dystopia หรือหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของดิจิตัล ดังนั้นผู้นำยุคใหม่ควรใส่ใจในเรื่องเหล่านี้และติดตามอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้ความเร็วของโลกในยุคดิจิตัลทำร้ายผู้ตามหรือลูกค้าของคุณ จนสุดท้ายมันกลับมาทำร้ายตัวคุณเอง
มองใหญ่
ธุรกิจที่ดีและยั่งยืน คือธุรกิจที่มองเห็นเป้าหมายที่ใหญ่กว่าตัวบริษัทเอง หนังสือชื่อ “Infinite Game” โดย Simon Sinek (ขออนุญาตยกชื่อนี้มาอีกครั้ง) เขียนได้ดีมากถึงเรื่องนี้ เขายกตัวอย่างถึงมุมมองการทำธุรกิจของสองบริษัทใหญ่อย่าง Microsoft และ Apple ที่แตกต่างกัน ขณะที่ Microsoft โฟกัสที่การเอาชนะ Apple แต่ Apple กลับโฟกัสที่การพัฒนาการศึกษาของประเทศหรือยิ่งใหญ่กว่านั้นคือของโลกใบนี้
หนังสือยกตัวอย่างว่า ความคิดของ Microsoft คือการเล่นเกมธุรกิจที่เรียกว่า “Finite Game” หรือเกมที่มีวันสิ้นสุด เกมที่กำหนดผู้ชนะ ผู้แพ้ เกมที่มีกฎ กติกา ในการวัดผลอย่างชัดเจน เช่น สินค้าเครื่องเล่นเพลงรุ่นนี้ของ Microsoft มียอดขายชนะ Apple อยู่ที่เท่าไหร่ เป็นต้น แต่สิ่งที่ Apple ทำคือการเล่นเกมธุรกิจที่เรียกว่า “Infinite Game” หรือเกมที่ไม่มีวันที่สิ้นสุด เพราะการพัฒนาการศึกษานั้นไม่มีวันสิ้นสุด เราไม่สามารถบอกได้ว่า “ฉันชนะการศึกษาแล้ว”
ดังนั้นด้วยมุมมองที่แตกต่างเช่นนี้
จึงทำให้ความคิดในการดำเนินธุรกิจของทั้งสองบริษัทแตกต่างกัน บริษัทที่เล่นเกมธุรกิจที่หวังชัยชนะระยะสั้นจะสร้างสินค้าที่คิดว่าจะขายได้ดี ส่วนบริษัทที่เล่นเกมธุรกิจโดยหวังในสิ่งที่ดีกว่าสำหรับผู้คนบนโลกจะสร้างสินค้าที่ลูกค้าอยากได้ ดังนั้นผู้นำในยุคใหม่ควรนำด้วยความคิดที่มองภาพใหญ่ มีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าตัวเอง และพาทั้งลูกค้าและทีมงานไปสู่เป้าหมายที่ไม่มีวันสิ้นสุดมองเล็ก
สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนทำงานในยุคใหม่ไม่เหมือนเดิมคือ ความคิดที่ไม่ต้องการเป็นลูกจ้างไปวัน ๆ คำถามที่สำคัญไม่ใช่ว่าเราจะหาคนที่อยากเป็นลูกจ้างได้อย่างไร แต่คำถามคือ ทำอย่างไรให้เขาไม่รู้สึกว่าเขาเป็นลูกจ้างต่างหาก
ความลับของคำถามนี้คือ คนทุกคนในยุคนี้ต้องการเป็น “ส่วนหนึ่งของความสำเร็จ” ซึ่งความคิดเช่นนี้ถือเป็นความคิดที่ดีมาก ไม่มีใครอยากทำงานไปวัน ๆ เช้าชาม เย็นชาม ทำงานกินเงินเดือนไปเรื่อย ๆ แน่นอนว่าในฐานะของผู้นำหรือเจ้าของกิจการก็คงไม่อยากได้ลูกจ้างที่ทำงานไปวัน ๆ เช่นกัน
แต่เราจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ลูกน้องและทีมงานรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จได้จริง ๆ
นั่นคือการ “มองเล็ก” เมื่อบริษัทประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขาย การพัฒนานวัตกรรม หรือใด ๆ ก็ตาม ผู้นำควรให้ความสำคัญและเชิดชูทุกคนที่มีส่วนร่วม มองเล็กลงไปให้ถึงหน่วยย่อยที่สุด เพราะทุกคนล้วนมีส่วนต่อความสำเร็จทั้งสิ้น
หมดยุคที่เราจะเชิดชูเฉพาะหัวหน้าทีม หรือคนที่โดดเด่นที่สุด เพราะวันนี้เรารู้แล้วว่า แม้หัวหน้าทีมหรือคนที่ขยันและสมองไวที่สุดก็ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ ถ้าพวกเขาไม่มีทีมงานที่ดี
การทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ คือสิ่งที่ทำให้พวกเขาพอใจ เพราะความสำเร็จไม่ใช่สิ่งที่เงินสามารถซื้อได้ แต่ต้องทุ่มด้วยกำลังใจและกำลังงานเท่านั้น และแม้ว่าคนยุคใหม่จะไม่อยากเป็นลูกจ้าง แต่พวกเขาเองก็ไม่อยากเสี่ยงที่จะออกไปเป็นเจ้าของบริษัทเช่นกัน แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาอยากเป็นตัวของตัวเองและทำด้วยตัวเองคือความสำเร็จ และความภาคภูมิใจ ซึ่งผู้นำยุคใหม่สามารถมองสิ่งเหล่านี้ให้กับพวกเขาได้
การมองไกล มองใกล้ มองใหญ่ และ มองเล็ก จึงเป็นความสามารถสำคัญของผู้นำในยุคใหม่ที่ควรใส่ใจ เพราะผู้นำที่จะสามารถนำทุกคนได้ คือผู้นำที่สามารถมองได้ทุกระยะ
บทความนี้เขียนที่ Krungsri Business Empowerment