เด็กดีได้ ไม่อยู่ที่มือถือ แต่อยู่ที่ครอบครัว

เด็กดีได้ ไม่อยู่ที่มือถือ แต่อยู่ที่ครอบครัว

การไม่ให้เด็กใช้ “มือถือ” ตอนอายุยังน้อยนี่แทบจะเป็นไปไม่ได้

ตอนผมมีลูกใหม่ ๆ ผมเคยตั้งไว้ว่าจะให้เค้าจับมือถือให้ “ช้าที่สุด” ซึ่งก็ทำได้จนถึงประมาณ 8-9 ขวบถ้าจำไม่ผิด ซึ่งเทียบกับวันนี้ก็ถือว่ามหัศจรรย์มากแล้ว

ผมเคยคิดว่ามือถือเป็นสิ่งเลวร้ายและไม่ควรให้เด็กสัมผัสมันเลย ลูกผมโตมากับเกมกระดาษ แผ่นป้าย A B C แถมรู้สึกแย่กับผู้ปกครองที่ให้เด็กเล่นเกมในมือถือ ipad ตั้งแต่ไม่กี่ขวบ แต่ความจริงแล้ว “เราจะหลีกเลี่ยงมันได้อย่างไร” คือคำถามที่ยากกว่า

เพราะเรา “หลีกเลี่ยงมันไม่ได้”

หนังสือ Anxious Generation มือถือจะเป็นตัวร้ายที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกันในสังคม เป็นตัวสร้างระยะห่างระหว่างคนในครอบครัว แนะนำว่าเราควรให้ลูกห่างจากมือถือจนกว่าจะถึง ม.ปลาย

ซึ่งผมก็เห็นด้วย..

แต่ผมคิดว่านั่น “เป็นไปไม่ได้เลย”

บางคนอาจจะแย้งว่า ทำได้ ซึ่งผมก็เชื่อว่าน่าจะมีแต่คงน้อยมาก

ดังนั้นเรามาคุยกันดีกว่าว่า “แล้วถ้ากันมือถือออกจากเด็กไม่ได้ เราควรทำอย่างไร?”

ผมคิดว่าหนึ่งในคำตอบคือ “ความอบอุ่นของครอบครัว”

ตอนเด็ก ๆ ผมไม่เข้าใจหรอกครับที่เค้าว่า ครอบครัวอบอุ่น มีผลต่อการเติบโตของเด็ก จนโตขึ้นมาและมีลูก ผมถึงเข้าใจคำนี้…

ครอบครัวอบอุ่นหมายถึงอะไร?

ครอบครัวอบอุ่นหมายถึง เราอยู่ด้วยกันบ่อย ๆ เจอกันบ่อย ๆ พูดคุยกันบ่อย ๆ แชร์เรื่องราวที่ต่างคนต่างได้พบเจอกันบ่อย ๆ และคุยกันอย่างเปิดเผย จริงใจ ไม่สร้างภาพต่อกันในครอบครัว มีปัญหาช่วยเหลือกัน ซึ่งไม่ใช่แค่พ่อแม่ช่วยลูก แต่ลูกก็ช่วยพ่อแม่ได้ด้วยเช่นกัน

บางคนอาจจะบอกว่า “ไม่มีเวลา” (อันนี้คลาสสิก)

ผมว่าเวลาก็สำคัญมากครับ แต่การ “ให้ความสำคัญกับเขา” แม้จะเวลาน้อย นั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน

ทำงานหนักจันทร์ถึงศุกร์ แล้วเสาร์อาทิตย์ไปไหนกันบ้าง ทำอะไรบ้าง อยู่ในบ้านเดียวกันได้คุยกันไหม ได้กินข้าวด้วยกันแล้วแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ไหม?

แต่ถ้าคุณแบ่งเวลาให้มากขึ้นได้ ก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก

การไปรับไปส่งเด็กที่โรงเรียนก็ถือเป็นการให้เวลาเหมือนกัน

หลายคนชอบบ่นว่าผู้ปกครองสมัยนี้สปอยล์ลูกตัวเองเกินไป ไม่ให้ขึ้นรถเมล์เหมือนแต่ก่อน ยอมรับว่าตอนยังไม่มีลูกเอง ผมก็คิดแบบนี้ครับ แต่พอมีแล้วเราพิจารณาสิ่งต่าง ๆ แล้วคิดว่า “ไปส่งเองน่าจะดีที่สุด”

เพราะนอกจากเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง ก็ยังมีเรื่อง “ความอบอุ่นในครอบครัว” นี่แหละ

ระหว่างทางตอนเช้า กับตอนเย็น มันมีเรื่องราวต่าง ๆ ให้ได้คุยกันมากมายเลยครับ ยิ่งถ้าได้ส่งตั้งแต่เด็ก เด็ก ๆ ก็จะแชร์เรื่องที่โรงเรียน ถ้าเขารู้ว่า “เราเป็นพื้นที่ปลอดภัย” ให้เขาได้ เขาก็จะยอมแชร์ พอโตขึ้น ต่อให้อยู่มัธยมแล้ว เค้าจะไม่รู้สึกเขินหรือต้องปกปิดที่จะแชร์

ดังนั้นต่อให้เขาเล่นมือถือ เล่น ipad แต่ถ้าคุณคุยกับเขาได้เกี่ยวกับเกมที่เขาเล่น หนังที่เขาดู ผมว่าก็ถือเป็นการให้เวลา สร้างความอบอุ่นผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ได้เหมือนกัน

เพราะคุณหนีความอันตรายของสังคมไปไม่ได้ครับ ต่อให้คุณไม่ให้โทรศัพท์มือถือกับเด็ก แต่ในสังคมนี้ก็มีอะไรที่แย่กว่ามาก เช่น สิ่งเสพติด การพนันต่าง ๆ

คุณไม่มีทางคุมเค้าได้ตลอด 24 ชม.ครับ

คำถามคือ คุณจะทำยังไงให้เค้าดูแลตัวเองและมีความคิด วิเคราะห์ แยกแยะได้ตลอด 24 ชั่วโมงต่างหาก

ความอบอุ่นเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เขาได้เห็น “คุณค่า” ของตัวเขาเอง ได้เห็นว่า ตัวเขามีคุณค่า โดยให้เขารู้ว่า “ตัวเขาเองมีคุณค่ากับพ่อแม่มากขนาดไหน” เขาก็จะไม่ไปเปรียบเทียบกับใครในโซเชียล แน่นอนว่าเค้าต้องมีจังหวะไปเปรียบเทียบอยู่แล้วล่ะ แต่คุณค่าของตัวเองจะทำให้เขาแคร์คนอื่นน้อยลง

เพราะเขารู้ว่ามีบางคนอยู่ที่บ้านที่เขาควรแคร์ไม่น้อยไปว่าคนในโซเชียล

ถ้าพ่อแม่ให้ความสำคัญกับเด็ก เด็กจะให้ความสำคัญกับพ่อแม่

ถ้าเขาให้ความสำคัญแล้ว เขาจะรู้ว่าถ้าเขาทำผิดแล้วพ่อแม่จะเสียใจขนาดไหน fail ขนาดไหน ทำดีแล้วพ่อแม่จะรักและภูมิใจกับเขาขนาดไหน และนั่นคือชุดความคิดที่จะทำให้เขาแยกแยกได้ว่า นี่คือสิ่งควรทำหรือไม่ควรทำ

ส่วนตัวผมมองว่าถ้าเราแก้ที่ปลายทางได้ยาก เราก็ต้องกลับมาเริ่มที่ต้นทาง มองดูสิ่งที่เรามอบให้เขา เรื่องพื้นฐานที่จริง ๆ เราควรให้ความสำคัญตั้งแต่แรก

สุดท้ายผมเองไม่ได้คิดว่าลูกผมดีมาากกก อบอุ่นจัด ๆ กว่าใคร ๆ แต่ผมคิดว่านี่คือดีที่สุดในแบบที่ครอบครัวทำให้ได้ โดยที่ไม่คิดว่าจะโทษสังคมหรืออุปกรณ์ใด ๆ เมื่อเกิดปัญหา

สรุป >>>

1. ครอบครัวอบอุ่นคือหัวใจของการพัฒนาเด็กที่ดีที่สุด

2. แต่เราหลีกเลี่ยงมือถือและ iPad ไม่ได้ เพราะพ่อแม่เองก็ใช้ให้ลูกเห็นตลอดเวลา

3. ความอบอุ่นของครอบครัว คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนในครอบครัวกล้าคุยกันและแชร์เรื่องราวต่อกัน

4. การสร้างความอบอุ่นเริ่มต้นจากการ “ให้เวลา” และ “ให้ความสำคัญ”

5. การไปส่งเด็กที่โรงเรียนทุกวันไม่ใช่เรื่องผิด แถมยังมีเวลาได้พูดคุยกันด้วย

6. เมื่อพ่อแม่ให้ความสำคัญกับเด็ก เด็กจะให้ความสำคัญกับพ่อแม่

7. ถ้าเขาเห็นว่าพ่อแม่สำคัญ เขาจะแยกแยะสิ่งไหนควรหรือไม่ควรทำ มองจากพื้นที่ฐานที่ว่า “สิ่งนี้จะทำให้พ่อแม่ภูมิใจ หรือเสียใจ”

8. ถ้าเราแก้ที่สังคม เทรนด์โลก ไม่ได้แล้ว เราก็ต้องกลับมาแก้ที่ตัวเราเอง

9. และอย่าคิดว่าเรา “ไม่มีเวลา” กลับไปที่เรื่องเดิม ถ้าคุณไม่ให้ความสำคัญกับเขา เขาก็จะไม่ให้ความสำคัญกับคุณ

Up Next:

Toxic Productivity เมื่อความขยันทำร้ายคุณ

Toxic Productivity เมื่อความขยันทำร้ายคุณ