เชื่อว่าในเดือน ๆ หนึ่งคุณต้องพบกับการขอร้อง ขอให้คุณช่วยเหลือในบางเรื่อง ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างเดินไปหยิบของให้หน่อย ช่วยติดต่องานให้บ้าง หรือเรื่องยืมเงิน ยืมทองก็ต้องมีกันบ้าง
แต่ละครั้งที่เรายื่นมือให้ความช่วยเหลือ จะมากหรือน้อยนั้นมักขึ้นอยู่กับความสนิทสนม ความใกล้ชิด ยิ่งสนิทมาก ใกล้มาก ก็ช่วยมาก แต่ถ้าสนิทน้อย อาจจะไม่ช่วย หรือ ช่วยแต่ต้องมีดีล มีผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
เวลาที่เราดีล มีข้อตกลงในการช่วยเหลือ แลกเปลี่ยน เหล่านี้มักไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไหร่ แต่ปัญหามักจะเกิดจากการช่วยเหลือกับ “เพื่อน” คนที่เราใกล้ชิด คนที่เราอยากให้ โดยที่เรา “ไม่ได้คิดอะไรเลย”
ปัญหาเกิดเพราะเมื่อวันหนึ่งเราลำบาก เรามีปัญหาบ้าง เราจะเริ่มมองหาคนที่เราเคยช่วยเหลือ และเดินย้อนกลับไปถามไถ่เค้า
บางครั้งก็ได้รับการช่วยเหลือที่ดี บางครั้งก็ไม่ได้..
และเมื่อไม่ได้ คนจำนวนไม่น้อยมักพูดว่า “ให้แล้วไม่รู้จักบุญคุณ”
จริงอยู่ที่ว่า.. เราก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ทำอะไรก็ต้องหวังผลตอบแทนบ้าง บางครั้งแค่คำขอบคุณก็เพียงพอ
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดว่าเราจะ “ให้” แล้ว ก็คือ “ให้” ความสุขที่สุดจากการให้คือให้โดยไม่ต้องคาดหวัง เมื่อไม่คาดหวัง ก็จะไม่ผิดหวัง
มีพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ที่ท่านเคยตรัสในสภาคองเกรส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 1960 ใจความว่า..
In my country there is one widely accepted concept. It is that of family obligations. The members of a family, in the large sense, are expected to help one another whenever there is a need for assistance. The giving of aid is a merit in itself. The giver does not expect to hear other sing his praises every day; nor does he expect any return. The receiver is nevertheless grateful. He too, in his turn, will carry out his obligations.
ในประเทศของฉัน มีสิ่งหนึ่งที่ยึดถือปฎิบัติกันมานั่นคือสัญญาของครอบครัว เมื่อเราเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว สมาชิกในครอบครัวต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อสมาชิกคนใดคนหนึ่งต้องการ การช่วยเหลือเป็นสิ่งดีที่ต้องทำโดยผู้ให้ไม่จำเป็นต้องคาดหวังการสรรเสริญหรือสิ่งตอบแทนใด ๆ อย่างไรก็ตามผู้ได้รับก็ต้องทำสำนึกในบุญคุณ และยึดมั่นในสัญญาอย่างนี้เช่นกัน
ผมได้อัญเชิญพระราชดำรัสนี้กล่าวในงาน Creative Talk Conference 2017 งานที่เราจัดกันเองเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพราะความหมายนั้นทำให้เราได้รู้จักถึงการเป็นผู้ให้และการเป็นผู้รับที่ดี
ดังนั้น อย่าพูดว่า “ให้แล้วไม่รู้จักบุญคุณ” เพราะถ้าหวังบุญคุณ มันไม่ใช่การให้ แต่เป็นการค้า
ส่วนผู้ที่ได้รับไปแล้ว อย่าพูดว่าโดน “ทวงบุญคุณ”
เพราะถ้าได้รับแล้วไม่รู้จักการให้คืน ก็อย่าหวังว่าจะได้ “รับ” เพิ่มเติม และไม่ต้องบ่นว่าตัวเองได้น้อยกว่าคนอื่น
ขอให้มีความสุขกับการเป็นผู้ให้ และ ผู้รับ ครับ
เขียนโดย
เก่ง สิทธิพงศ์
ศิริมาศเกษม (facebook: GengSittipong)
– Creative/ Designer, CEO บริษัท –RGB72 จำกัด
– Creative Wisdom Page
Admin
– Columnist GM Magazine, GMBiz และ SCB SME
– Speaker และ Mentor StartUps
– Host ผู้จัดงาน Creative Talk