เด็กดีได้ ไม่อยู่ที่มือถือ แต่อยู่ที่ครอบครัว

เด็กดีได้ ไม่อยู่ที่มือถือ แต่อยู่ที่ครอบครัว

การไม่ให้เด็กใช้ “มือถือ” ตอนอายุยังน้อยนี่แทบจะเป็นไปไม่ได้

ตอนผมมีลูกใหม่ ๆ ผมเคยตั้งไว้ว่าจะให้เค้าจับมือถือให้ “ช้าที่สุด” ซึ่งก็ทำได้จนถึงประมาณ 8-9 ขวบถ้าจำไม่ผิด ซึ่งเทียบกับวันนี้ก็ถือว่ามหัศจรรย์มากแล้ว

ผมเคยคิดว่ามือถือเป็นสิ่งเลวร้ายและไม่ควรให้เด็กสัมผัสมันเลย ลูกผมโตมากับเกมกระดาษ แผ่นป้าย A B C แถมรู้สึกแย่กับผู้ปกครองที่ให้เด็กเล่นเกมในมือถือ ipad ตั้งแต่ไม่กี่ขวบ แต่ความจริงแล้ว “เราจะหลีกเลี่ยงมันได้อย่างไร” คือคำถามที่ยากกว่า

เพราะเรา “หลีกเลี่ยงมันไม่ได้”

หนังสือ Anxious Generation มือถือจะเป็นตัวร้ายที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกันในสังคม เป็นตัวสร้างระยะห่างระหว่างคนในครอบครัว แนะนำว่าเราควรให้ลูกห่างจากมือถือจนกว่าจะถึง ม.ปลาย

ซึ่งผมก็เห็นด้วย..

แต่ผมคิดว่านั่น “เป็นไปไม่ได้เลย”

บางคนอาจจะแย้งว่า ทำได้ ซึ่งผมก็เชื่อว่าน่าจะมีแต่คงน้อยมาก

ดังนั้นเรามาคุยกันดีกว่าว่า “แล้วถ้ากันมือถือออกจากเด็กไม่ได้ เราควรทำอย่างไร?”

ผมคิดว่าหนึ่งในคำตอบคือ “ความอบอุ่นของครอบครัว”

ตอนเด็ก ๆ ผมไม่เข้าใจหรอกครับที่เค้าว่า ครอบครัวอบอุ่น มีผลต่อการเติบโตของเด็ก จนโตขึ้นมาและมีลูก ผมถึงเข้าใจคำนี้…

ครอบครัวอบอุ่นหมายถึงอะไร?

ครอบครัวอบอุ่นหมายถึง เราอยู่ด้วยกันบ่อย ๆ เจอกันบ่อย ๆ พูดคุยกันบ่อย ๆ แชร์เรื่องราวที่ต่างคนต่างได้พบเจอกันบ่อย ๆ และคุยกันอย่างเปิดเผย จริงใจ ไม่สร้างภาพต่อกันในครอบครัว มีปัญหาช่วยเหลือกัน ซึ่งไม่ใช่แค่พ่อแม่ช่วยลูก แต่ลูกก็ช่วยพ่อแม่ได้ด้วยเช่นกัน

บางคนอาจจะบอกว่า “ไม่มีเวลา” (อันนี้คลาสสิก)

ผมว่าเวลาก็สำคัญมากครับ แต่การ “ให้ความสำคัญกับเขา” แม้จะเวลาน้อย นั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน

ทำงานหนักจันทร์ถึงศุกร์ แล้วเสาร์อาทิตย์ไปไหนกันบ้าง ทำอะไรบ้าง อยู่ในบ้านเดียวกันได้คุยกันไหม ได้กินข้าวด้วยกันแล้วแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ไหม?

แต่ถ้าคุณแบ่งเวลาให้มากขึ้นได้ ก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก

การไปรับไปส่งเด็กที่โรงเรียนก็ถือเป็นการให้เวลาเหมือนกัน

หลายคนชอบบ่นว่าผู้ปกครองสมัยนี้สปอยล์ลูกตัวเองเกินไป ไม่ให้ขึ้นรถเมล์เหมือนแต่ก่อน ยอมรับว่าตอนยังไม่มีลูกเอง ผมก็คิดแบบนี้ครับ แต่พอมีแล้วเราพิจารณาสิ่งต่าง ๆ แล้วคิดว่า “ไปส่งเองน่าจะดีที่สุด”

เพราะนอกจากเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง ก็ยังมีเรื่อง “ความอบอุ่นในครอบครัว” นี่แหละ

ระหว่างทางตอนเช้า กับตอนเย็น มันมีเรื่องราวต่าง ๆ ให้ได้คุยกันมากมายเลยครับ ยิ่งถ้าได้ส่งตั้งแต่เด็ก เด็ก ๆ ก็จะแชร์เรื่องที่โรงเรียน ถ้าเขารู้ว่า “เราเป็นพื้นที่ปลอดภัย” ให้เขาได้ เขาก็จะยอมแชร์ พอโตขึ้น ต่อให้อยู่มัธยมแล้ว เค้าจะไม่รู้สึกเขินหรือต้องปกปิดที่จะแชร์

ดังนั้นต่อให้เขาเล่นมือถือ เล่น ipad แต่ถ้าคุณคุยกับเขาได้เกี่ยวกับเกมที่เขาเล่น หนังที่เขาดู ผมว่าก็ถือเป็นการให้เวลา สร้างความอบอุ่นผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ได้เหมือนกัน

เพราะคุณหนีความอันตรายของสังคมไปไม่ได้ครับ ต่อให้คุณไม่ให้โทรศัพท์มือถือกับเด็ก แต่ในสังคมนี้ก็มีอะไรที่แย่กว่ามาก เช่น สิ่งเสพติด การพนันต่าง ๆ

คุณไม่มีทางคุมเค้าได้ตลอด 24 ชม.ครับ

คำถามคือ คุณจะทำยังไงให้เค้าดูแลตัวเองและมีความคิด วิเคราะห์ แยกแยะได้ตลอด 24 ชั่วโมงต่างหาก

ความอบอุ่นเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เขาได้เห็น “คุณค่า” ของตัวเขาเอง ได้เห็นว่า ตัวเขามีคุณค่า โดยให้เขารู้ว่า “ตัวเขาเองมีคุณค่ากับพ่อแม่มากขนาดไหน” เขาก็จะไม่ไปเปรียบเทียบกับใครในโซเชียล แน่นอนว่าเค้าต้องมีจังหวะไปเปรียบเทียบอยู่แล้วล่ะ แต่คุณค่าของตัวเองจะทำให้เขาแคร์คนอื่นน้อยลง

เพราะเขารู้ว่ามีบางคนอยู่ที่บ้านที่เขาควรแคร์ไม่น้อยไปว่าคนในโซเชียล

ถ้าพ่อแม่ให้ความสำคัญกับเด็ก เด็กจะให้ความสำคัญกับพ่อแม่

ถ้าเขาให้ความสำคัญแล้ว เขาจะรู้ว่าถ้าเขาทำผิดแล้วพ่อแม่จะเสียใจขนาดไหน fail ขนาดไหน ทำดีแล้วพ่อแม่จะรักและภูมิใจกับเขาขนาดไหน และนั่นคือชุดความคิดที่จะทำให้เขาแยกแยกได้ว่า นี่คือสิ่งควรทำหรือไม่ควรทำ

ส่วนตัวผมมองว่าถ้าเราแก้ที่ปลายทางได้ยาก เราก็ต้องกลับมาเริ่มที่ต้นทาง มองดูสิ่งที่เรามอบให้เขา เรื่องพื้นฐานที่จริง ๆ เราควรให้ความสำคัญตั้งแต่แรก

สุดท้ายผมเองไม่ได้คิดว่าลูกผมดีมาากกก อบอุ่นจัด ๆ กว่าใคร ๆ แต่ผมคิดว่านี่คือดีที่สุดในแบบที่ครอบครัวทำให้ได้ โดยที่ไม่คิดว่าจะโทษสังคมหรืออุปกรณ์ใด ๆ เมื่อเกิดปัญหา

สรุป >>>

1. ครอบครัวอบอุ่นคือหัวใจของการพัฒนาเด็กที่ดีที่สุด

2. แต่เราหลีกเลี่ยงมือถือและ iPad ไม่ได้ เพราะพ่อแม่เองก็ใช้ให้ลูกเห็นตลอดเวลา

3. ความอบอุ่นของครอบครัว คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนในครอบครัวกล้าคุยกันและแชร์เรื่องราวต่อกัน

4. การสร้างความอบอุ่นเริ่มต้นจากการ “ให้เวลา” และ “ให้ความสำคัญ”

5. การไปส่งเด็กที่โรงเรียนทุกวันไม่ใช่เรื่องผิด แถมยังมีเวลาได้พูดคุยกันด้วย

6. เมื่อพ่อแม่ให้ความสำคัญกับเด็ก เด็กจะให้ความสำคัญกับพ่อแม่

7. ถ้าเขาเห็นว่าพ่อแม่สำคัญ เขาจะแยกแยะสิ่งไหนควรหรือไม่ควรทำ มองจากพื้นที่ฐานที่ว่า “สิ่งนี้จะทำให้พ่อแม่ภูมิใจ หรือเสียใจ”

8. ถ้าเราแก้ที่สังคม เทรนด์โลก ไม่ได้แล้ว เราก็ต้องกลับมาแก้ที่ตัวเราเอง

9. และอย่าคิดว่าเรา “ไม่มีเวลา” กลับไปที่เรื่องเดิม ถ้าคุณไม่ให้ความสำคัญกับเขา เขาก็จะไม่ให้ความสำคัญกับคุณ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Up Next:

Toxic Productivity เมื่อความขยันทำร้ายคุณ

Toxic Productivity เมื่อความขยันทำร้ายคุณ