ขณะที่ปี 2019 กำลังจะผ่านไป ปี 2020 กำลังจะเข้ามา เคยสังเกตไหมว่า แม้เวลาจะเดินด้วยจังหวะคงที่ตลอดหลายล้านปี แต่เวลาในช่วงนี้กลับหดเหลือน้อยลงทุกที ๆ ทำงานไม่เท่าไรก็สิ้นวัน แถมเนื้องานก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดลงง่าย ๆ
งานที่เข้ามามีส่วนในชีวิตผู้ประกอบการเริ่มมีหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่เจ้าของกิจการสามารถโฟกัสกับการผลิตสินค้า การพัฒนาโปรดักส์ การขาย การตลาด แต่ปัจจุบันนี้เฉพาะเรื่องการตลาดผู้ประกอบการยังต้องรู้เพิ่มเติมอีกมากมาย
ยกตัวอย่างเรื่องที่เราคุ้นหูอย่างการตลาดออนไลน์ ที่เชื่อว่าผู้ประกอบการหลายท่านมีความรู้พอสมควรแล้ว แต่ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง ประกอบกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของมนุษย์ในปัจจุบัน การตลาดออนไลน์ที่ว่าเป็นเรื่องง่าย ๆ กลับมีเรื่องเทคนิคอย่าง Artificial Intelligence และ Data Analysis เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เรื่องที่ผู้ประกอบการเคยรู้ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับวันพรุ่งนี้
World Economic Forum ได้ออกรายงานฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า “Future of Jobs” เมื่อปลายปี 2018 ที่พูดถึงอนาคตของการทำงาน ในรายการได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2022 ตำแหน่งงานมากถึง 75 ล้านตำแหน่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบันจะได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ขณะที่จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดเพิ่มขึ้นมากกว่า 133 ล้านตำแหน่ง เหล่านี้เป็นตัวเลขที่กำลังบอกเราว่านี่คือสิ่งใหม่ที่กำลังจะเข้ามาและมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการของเจ้าของกิจการและมีผลกระทบต่อเนื่องมาถึงตัวธุรกิจอย่างแน่นอน
Leader สำหรับปี 2020 นั้นจึงจำเป็นต้องมีแนวคิดรูปแบบใหม่ที่สามารถผสมผสาน นำประสบการณ์ของความเป็นผู้ประกอบการเดิมที่มีอยู่มาพัฒนาร่วมกับการทำงานในรูปแบบใหม่ได้อย่างดีมีประสิทธิภาพในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ทศวรรษใหม่ บทความนี้ผมจึงขอนำเสนอไอเดียที่จะทำให้ผู้อ่านสามารถเป็นผู้นำ (leader) ในยุคใหม่ได้
นั่นคือ การมอบอาวุธและโอกาส
ผู้ประกอบการจะต้องเริ่มด้วยการเป็นผู้นำแห่งการ “ให้” ให้สิ่งสำคัญสองประการที่มนุษย์ในปัจจุบันต้องการที่สุดนั่นคือ การให้ความรู้ และการให้โอกาส
ปัจจุบันองค์กรจำนวนมากเริ่มส่งพนักงาน ทีมงาน ทุกระดับ ตั้งแต่รุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่ไปเรียน ไป reskill พัฒนาทักษะความสามารถของงานที่ตัวเองกำลังทำอยู่ให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเพิ่มทักษะใหม่ๆ โดยปัจจุบันนอกจากการส่งไปเรียนนอกสถานที่แล้ว
หลายองค์กรยังส่งเสริมให้ทีมงานเรียนผ่านออนไลน์ จากผู้สอนและสถานบันทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น skilllane ของไทย หรือ udeme, skillshare, coursera, ideo และอื่น ๆ อีกมากมายในต่างประเทศ ทั้งนี้นอกจากทีมงานจะได้รับความรู้ที่สามารถเพิ่มทักษะตัวเองได้แล้ว บางคอร์สยังมีส่วนของอินเตอร์แอคทีฟที่ผู้เรียนสามารถพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนร่วมคลาสที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ ได้อีกด้วย
การเรียนรู้เรื่องใหม่ ไม่จำเป็นจะต้องเรียนเฉพาะเรื่องทักษะความรู้ระดับ hard skill แต่ตรงกันข้ามความรู้ด้าน soft skill กลับมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลย จากการสำรวจโดย LinkedIn โซเชียลเน็ตเวิร์คที่รวบรวมนักธุรกิจมากมายพบว่า 90% เห็นด้วยว่า soft skill ที่ดีของพนักงานมีส่วนช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ ขณะที่ 89% บอกว่าการมีพนักงานที่ขาด soft skill คือจุดอ่อนของการเลือกจ้างพนักงาน
การให้เรื่องถัดมาคือ การให้โอกาส หลังจากผู้นำได้มอบความรู้ที่เปรียบเสมือนอาวุธแล้ว พนักงานยุคใหม่ต้องการพื้นที่ในการพิสูจน์ตัวเอง พื้นที่ที่จะได้ออกไปลองความคมของอาวุธที่ได้รับมา จะมีประโยชน์อะไรถ้าได้รับอาวุธมาแล้วไม่ได้ใช้ ดังนั้นการให้โอกาสในการได้ทดลอง คือหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
สตาร์ทอัพขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จอย่าง Wongnai แอพพลิเคชั่นรีวิวร้านอาหาร นอกจากงานฝั่งการรีวิวและการพัฒนาระบบแล้ว พวกเขายังมีงานอีเว้นท์ที่จัดขึ้นเองหลายครั้ง และงานอีเว้นท์ขนาดใหญ่ที่ต้องดูแลผู้คนเป็นหลักพันคน พวกเขาให้ความไว้เนื้อเชื่อใจและให้พื้นที่กับทีมงานที่อายุไม่มากนักเป็นผู้จัดการดูแล ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นทำให้ผู้ใหญ่ในบริษัทต้องเอ่ยปากชมทีมงานรุ่นใหม่เหล่านี้ผ่านทางโซเชียลว่า “ทำได้เกินกว่าที่เขาคาดหวังไว้มาก”
แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกครั้งที่ทำจะประสบความสำเร็จและได้ผลลัพธ์ดีเกินคาด มีหลายครั้งที่ผิดพลาด ล้มเหลว แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้นำประสบความสำเร็จทุกครั้ง คือการให้พนักงานได้เรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง และได้รับประสบการณ์จริง
เมื่อให้แล้วต้อง รับอาวุธและโอกาส ด้วยเช่นกัน
วิธีที่หนึ่งและสองเหมือนผมจะเขียนเหมือนกัน แต่แตกต่างเพียงแค่คำว่า “มอบ” และ “รับ”
เพราะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ขณะที่ผู้นำในยุค 2020 นั้นจำเป็นต้อง “ให้” แล้ว ผู้นำต้องรู้จัก “รับ” เช่นกัน ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ เทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว ยากมากที่เราจะสามารถส่งพนักงานของเราทุกคนไปเรียนรู้และกลับมาพัฒนาองค์กรได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้นำจำเป็นต้องทำอีกวิธีร่วมไปด้วยกันนั่นคือการ Collaboration หรือการประสานงาน ผนึกกำลังเพื่อสร้างสรรค์งานร่วมกัน
ความคิดของการทำงานในปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนจากการจัดการคู่แข่ง เป็นการหาพันธมิตร ตัวอย่างจากสตาร์ทอัพร้านกาแฟชื่อ CLASS Cafe บริษัทสามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็วถึง
แน่นอนว่าถ้าให้ CLASS Cafe ลงทุนทุกสาขาก็คงไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว หรือจะไปพัฒนาระบบ face detection เองก็คงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย ดังนั้นการจับมือกับพันธมิตรจึงเป็นการ “รับ” อาวุธใหม่ ๆ และรับโอกาสที่น่าสนใจ ซึ่งถือเป็นการบริหารงานที่ผู้นำในยุคใหม่ปฏิเสธไม่ได้
ดังนั้นไม่ว่าเทคโนโลยีจะมารวดเร็วแค่ไหน ความรู้จะหลากหลายเท่าไร หากเรารู้จักกการ “ให้” และการ “รับ” อาวุธและโอกาสใหม่ ๆ ดังผู้ประกอบการหลายท่านที่ผมได้มีโอกาสพูดคุย ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเปรียบเสมือนยานพาหนะความเร็วสูงที่จะพาคุณล้ำนำเทคโนโลยีและความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลลัพท์ที่ดี อาจจะนำมาซึ่งความสำเร็จของธุรกิจก็เป็นได้
บทความนี้เขียนที่ Krungsri Business Empowerment Fanpage