Open Talent Economy ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่มีคนพูดถึงมานานหลายปีแล้ว เพียงแต่ว่าภาพ ณ วันนั้นอาจจะไม่ชัดเท่าวันนี้
ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีมากมาย มีเทคโนโลยี ความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Data, การเก็บข้อมูล, การวิเคราะห์, AI หรือแม้แต่เรื่องการออกแบบ, ดีไซน์, การเขียนโปรแกรม ยิ่งไปกว่านั้น หลาย ๆ เทคโนโลยีกลับมีอายุสั้น เรียนรู้ได้ไม่เท่าไหร่ ก็มีสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเข้ามาแทนที่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้ประกอบการยุคใหม่ควรรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร
แน่นอนว่าการส่งพนักงานออกไปเรียนรู้ ศึกษาเรื่องใหม่เป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บางครั้งการเรียนรู้อาจจะไม่เร็วพอ เพราะกว่าจะได้เรียนรู้ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะได้ทดลองทำ ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะสายไปเสียแล้ว ส่วนการจะรับพนักงานใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาบรรจุเป็นพนักงานประจำในบางตำแหน่งก็อาจจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายประจำที่ไม่จำเป็น
นั่นคือเหตุผลที่หลายธุรกิจเริ่มหันมาจ้างคนที่มีความสามารถเฉพาะทาง โดยไม่ต้องบรรจุเป็นพนักงานประจำ หากธุรกิจของคุณเคยจ้างฟรีแล้นซ์ ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ งานเขียนโปรแกรม นั่นล่ะครับคือคุณกำลังเดินทางเข้าสู่ Open Talent Economy แล้ว
Klaus Schwab founder ของ World Economic Forum เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจสำหรับยุคนี้คือความคิดสร้างสรรค์ และ นวัตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้นธุรกิจใดที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่มีความสามารถเหล่านี้ จะเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับโลกได้ หากคุณคิดว่าหัวใจของการเปลี่ยนแปลงหรือ disruption นั้นเป็นเรื่องของเทคโนโลยี คุณอาจจะคิดผิด เพราะ disruption แท้จริงแล้วนั้นเป็นเรื่องของ “คน” มากกว่า
Open Talent Economy ถูกนิยามโดย Deloitte ว่าเป็น “A collaborative, transparent, technology-enable, rapid-cycle way of doing business. What the open source model did for software, the open talent economy is doing for work.” ซึ่งทั้งหมดนี้หมายถึงการทำงานร่วมกันอย่างโปร่งใส โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ และเป็นวิธีการทำธุรกิจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเปรียบเทียบระบบ Open source กับ Open Talent Economy นั้นจะใกล้เคียงกันเพียงแต่ Open Talent Economy ไม่ใช่เป็นการทำกับโปรแกรม แต่เป็นระบบที่ใช้กับการทำงาน
เมื่อธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ที่ต้องการเปลี่ยนตัวเอง และมีอิสระมากขึ้น Open Talent Economy คือการเข้าถึง การว่าจ้าง บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ในช่วงเวลาที่ธุรกิจต้องการ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านความเป็นมืออาชีพ และเปลี่ยนจากคำว่าค่าใช้จ่ายรายเดือน เป็นการลงทุน
แต่ทุกสิ่งย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เมื่อเรากำลังเดินทางเข้าสู่การค้นหาบุคลากรที่จะมาเสริมกำลังให้กับบริษัทโดยไม่บรรจุเป็นพนักงานประจำเหมือนก่อน อะไรคือปัญหาและความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องระวังและทำความเข้าใจ ที่สำคัญคือเมื่อรู้แล้ว จะป้องกันเรื่องเหล่านั้นได้อย่างไร
ความท้าทายที่หนึ่ง เป้าหมาย
ทุกธุรกิจล้วนมีเป้าหมาย มีวิสัยทัศน์จากผู้บริหาร บ่อยครั้งที่ทีมงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะพวกเขาขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ มีแรงพลังที่ทำให้เขาคิดได้มากกว่าการทำงานไปวัน ๆ
แต่การว่าจ้างบุคลากรที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับบริษัท หรือทำงานอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน ปัญหาอันดับหนึ่งที่จะเกิดคือ การเข้าไม่ถึงเป้าหมายและวิสัยทัศน์เหล่านั้น ส่งผลให้เกิดผลงานที่ทำเสร็จไปวัน ๆ การทำงานที่อาจจะเต็มร้อย และยากที่จะคาดหวังงานที่เกินร้อย
สิ่งที่ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมคือ การส่งต่อเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่สำคัญของบริษัท หรือโปรเจคที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ว่าจะส่งผลอย่างไรกับบริษัทหรือตัวลูกค้า สร้างเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เพื่อเพิ่มแรงขับเคลื่อนให้กับบุคคลากรเหล่านั้น
ความท้าทายที่สอง ความลับ
เป็นไปได้หรือไม่ที่งานท่ีคุณกำลังส่งให้บุคลากรข้างนอกทำนั้นเป็นงานที่มีความลับสุดยอด เป็นความลับทางการค้าที่ห้ามบอก และห้ามเล็ดลอดออกไปสู่คู่แข่ง แต่จะให้เก็บงานที่เป็นความลับไว้เฉพาะกับพนักงานภายในก็อาจจะเป็นการจำกัดความสามารถในการพัฒนาบริษัทก็เป็นได้
ความลับมีอยู่ในทุกธุรกิจ ดังนั้นสิ่งที่เจ้าของกิจการควรระวังคือ การรั่วไหลของงานที่มีความเปราะบาง มีข้อมูลสำคัญ การทำเอกสารเก็บความลับให้บุคลากรที่มีความสามารถนอกบริษัทได้ลงนามยอมรับ ถือเป็นหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดในการทำงานที่ต้องเก็บความลับและขณะเดียวกันบริษัทก็ไม่จำเป็นต้องปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาอีกด้วย
ความท้าทายที่สาม สวัสดิการ
บุคลาการที่ไม่ได้ทำอยู่ในบริษัทจำเป็นต้องมีสวัสดิการหรือไม่? เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะบุคลากรที่ได้รับการว่าจ้างใช่ว่าจะทำงานจบเป็นโปรเจค แต่บางครั้งอาจจะต้องทำสัญญากันยาวเป็นปี คำถามคือพวกเขาต้องการสวัสดิการหรือไม่
สวัสดิการที่หมายถึง มีตั้งแต่ ค่ารักษาพยาบาล ประกันชีวิต รวมไปถึงค่าอุปกรณ์ในการทำงาน เช่น คอมพิวเตอร์ แทปเลต หรือแม้แต่ค่าเดินทาง
สวัสดิการอาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็น หรือสิ่งที่ต้องมี แต่ธุรกิจใดที่มี อาจจะทำให้เข้าถึงบุคลากรที่มีความสามารถได้มากขึ้นก็เป็นได้ ดังนั้นสวัสดิการอาจจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการควรต้องเตรียมพร้อมสำหรับยุค Open Talent Economy
ทั้งหมดนี้คือการเตรียมพร้อมรับมือกับ Open Talent Economy ที่กำลังจะเดินทางมาถึงอย่างจริงจัง ในยุคที่ความสามารถไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก เราก็สามารถเข้าถึงได้ และเมื่อคุณเข้าใจทั้งหมดนี้แล้ว คุณก็จะเข้าใจว่าทำไม Klaus Schwab จึงได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า “ธุรกิจใดที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่มีความสามารถเหล่านี้ จะเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับโลกได้”
บทความนี้เขียนที่ Krungsri Business Empowerment