ระหว่างนั่งรีวิวบทความที่น้อง ๆ ถอดเทปจาก Podcast ของผมที่ได้พูดไว้ใน Morning Call Podcast ผมก็ได้พบกับ ep. หนึ่งที่มีหัวข้อว่า “ศาสตร์ของการตั้งคำถาม”
// สามารถฟัง ep นี้ได้จากด้านล่างครับ
พอได้อ่านบทความที่น้องเขียนก็คิดว่า เนื้อหานี้น่าสนใจดี จึงตัดสินใจเลือกเฉพาะส่วนนี้มาให้อ่านกัน ก่อนที่เวอร์ชั่นถอดเทปแบบสมบูรณ์ 100% จะปล่อยออกมาให้ได้อ่านกันแบบเต็ม ๆ
ดังนั้นวันนี้เราลองมาดูวิธีตั้งคำถามที่ได้คำตอบที่ไม่โกหกกันเถอะ
ก่อนที่จะพูดถึง “วิธีตั้งคำถาม” ก็ต้องบอกข้อมูลเป็นพื้นฐานก่อนว่า คำถามนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ “คำถามปลายเปิด” และ “คำถามปลายปิด”
ปลายเปิดคือ
คำถามกว้าง ๆ เช่น “คุณคิดอย่างไรบ้างกับฤดูฝน?” ซึ่งข้อดีคือเราจะได้คำตอบที่คาดการณ์ได้ยาก หลากหลาย แต่ข้อเสียคือ คุณอาจจะไม่ได้คำตอบที่คาดหวังไว้ และใช้เวลานาน
ขณะที่คำถามปลายปิด เช่น “คุณชอบรถสีอะไร?” โดยคำถามปลายปิดจะทำให้คุณได้คำตอบภายในเวลาอันรวดเร็ว กระชับ ชัดเจน แต่ข้อเสียคือ คุณอาจจะไม่ได้เห็นมุมมองในเรื่องอื่น ๆ จากผู้ตอบเลย
อย่างไรก็ตาม คำถามปลายปิดยังมีแยกย่อยอีก คือคำถามปลายปิดแบบมีตัวเลือก เช่น “คุณว่าอาหารจานนี้ควรใส่น้ำปลาหรือเกลือดี?” คำถามแบบนี้ยิ่งแคบลงไปอีก คือ ผู้ตอบสามารถตอบได้แค่ 1 ใน 2 คำตอบนี้เท่านั้น!
ทีนี้กลับที่ถึงเนื้อหาหลักของเราบ้าง
แน่นอนว่าทุกคนที่ตั้งคำถาม อยากได้คำตอบที่จริงใจจากผู้ตอบ ซึ่งหนึ่งในเทคนิคการตั้งคำถามปลายปิดเพื่อให้ได้คำตอบที่จริงใจ นั่นคือการตั้งคำถามเชิงลบ เช่น ถ้าเรากำลังตามงานกับทีมงานแล้วเราถามว่า…
“งานนี้จะเสร็จภายในเย็นนี้ใช่มั้ย?”
แบบนี้เป็นคำถามที่ดูเป็นเชิงบวกสุด ๆ แต่กลับกลายเป็นว่า ถ้าคนตอบรู้สึกว่าเขาไม่สามารถเสร็จได้ทันเวลา เขาจะไม่กล้าตอบ รู้สึกว่ามันสวนทางกับความเป็นบวกในคำถามนั้น และยากมากที่จะตอบคำถามนี้
ในทางกลับกันถ้าเราถามในแง่ลบว่า…
“งานนี้คงไม่เสร็จในอาทิตย์นี้หรอกใช่มั้ย?”
คนตอบจะกล้าตอบถ้าเขามองว่ามันไม่เสร็จจริง ๆ “เอิ่ม.. ใช่ครับ มันอาจจะเลทสักสองสามวัน” เพราะเขารู้สึกว่าโอเคที่จะตอบตามจริง แต่ถ้าเขารู้สึกว่างานจะเสร็จภายในอาทิตย์หนึ่งแน่ ๆ เขาก็ภูมิใจที่จะตอบว่า “ไม่ถึงหรอก ยังไงงานนี้ก็เสร็จภายในอาทิตย์นี้อยู่แล้ว” เพราะฉะนั้นการตั้งคำถามเชิงลบ ช่วยให้ได้รับคำตอบที่จริงใจได้เหมือนกัน
หรือคำถามปลายเปิดก็ช่วยให้ได้คำตอบที่จริงใจได้เหมือนกัน เช่น เรากำลังไปซื้อเสื้อมือสองจากเพื่อน แล้วถามว่า “เสื้อตัวนี้ใช้มาบ่อยแล้วใช่มั้ย” มันอาจทำให้เขารู้สึกกระอั่กกรอ่วน หรือโกหกว่าไม่บ่อย แต่ถ้าเราถามไปเลยว่า “ไหนลองบอกหน่อยว่าเสื้อตัวนี้เป็นยังไงบ้าง” เขาอาจจะเล่าให้ฟังว่ามันเคยใช้อะไรมาบ้าง
นอกนี้ ยังมีเทคนิค 3 ข้อ ที่อยากฝากไว้ เป็นเทคนิคในการตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นคำถามปลายเปิด หรือปลายปิด เพื่อค้นหาความจริงจากการถามคำถาม
เทคนิคที่ 1: หัวใจสำคัญของการถาม คือ การฟัง
ไม่ว่าเราจะถามปลายเปิดหรือปิด จะได้รับความจริงหรือไม่ สิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือการฟังคำตอบ หลายคนเชื่อว่าเวลาเราพูดกับคนอื่นว่าเรามีดียังไง จะทำให้คนชอบเรา เพราะมันทำให้คนรู้จักเรา ซึ่งไม่จริงเลย การฟังต่างหากที่จะทำให้คนอื่นชอบเรามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการถาม ถ้าเราถามแล้วฟังอย่างตั้งใจ คนจะรู้สึกว่าเราสนใจเขา เขาอยากจะตอบคำถามดี ๆ ให้
เทคนิคที่ 2: ถามแล้ว ถามอีก
เมื่อถามแล้วคำถามหนึ่ง ควรจะมี follow-up question หรือคำถามไว้ถามต่อ เช่น คำถามหลัก: เกิดจังหวัดอะไร คำถามต่อ: อ๋อ จังหวัดนี้นี่เอง
ไม่ทราบว่าส่วนไหน อำเภอไหนของจังหวัดนั้น
การสร้าง follow-up question จะทำให้คนถูกถามรู้สึกว่าเราใส่ใจ สนใจคำตอบ วิเคราะห์คำตอบแล้วเอามาถามต่อ คนถูกถามจะยิ่งรู้สึกสนุกที่ได้คุยกับเรา
เทคนิคที่ 3: ถ้าไม่เข้าใจก็ถามอีก
บางครั้งเราเกรงใจ บอกว่าเข้าใจทั้ง ๆ ที่ไม่เข้าใจ ซึ่งเขาดูออกจากสีหน้า หรือบางทีคำถามต่อไปของเรา อาจจะไปซ้ำกับสิ่งที่เขาอธิบายไปแล้ว ดังนั้นการที่เราคิดว่าเราเกรงใจเขาแล้วมันจะดี กลับกลายเป็นผลเสีย เหมือนเราไม่ฟัง ไม่ใส่ใจ มาถามซ้ำ เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจในคำตอบ แนะนำให้ถามอีกครั้ง เช่นนี้เขาไม่รู้สึกว่าเรากวนใจ แต่รู้สึกว่าเราสนใจ เขาจะอธิบายให้ฟังอีกรอบ
ขณะเดียวกัน การถามบ่อย ๆ อาจจะเป็นผลดีต่อผู้ถามเองด้วยซ้ำ ถ้าผู้โดนถามมาก ๆ ผู้ถามอาจจะกลับไปทบทวนได้อีกครั้ง ว่าการตอบคำถามของเขามันยากเกินที่คนอื่นจะเข้าใจหรือเปล่า และอาจจะกลับไปพัฒนาและปรับปรุงในการตอบคำถามของตัวเองได้ในอนาคต
ดังนั้นเพียงเท่านี้ คุณก็จะได้รับคำตอบที่ดี ตรงใจ และไม่โกหก